วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปรากฎการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ 6 มิถุนายน 2555


ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ (Transit of Venus 2012) ปรากฎการณ์ดวงศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์จะมีให้เห็นได้ทั่วประเทศไทยในตอนเช้าวันที่ 6 มิถุนายน 2555 หากพลาดชมในปี 2012 จะเกิดอีกในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2117 และธันวาคม ค.ศ. 2125



              Transit of Venus เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่เกิดขึ้นเมื่อดาวศุกร์เคลื่อนที่ผ่านแนวเส้นตรงที่เชื่อมระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ คนบนโลกจะเห็นดาวศุกร์เป็นดวงกลมดำขนาดเล็กเคลื่อนที่ผ่านดวงอาทิตย์ การผ่านหน้าคล้ายกับสุริยุปราคาที่เกิดจากดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ ต่างกันตรงที่ดาวศุกร์อยู่ห่างจากโลกมากกว่าดวงจันทร์ (แม้ว่าจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า) เราจึงมองเห็นดาวศุกร์มีขนาดเล็กมาก ในอดีตนักดาราศาสตร์ใช้ปรากฏการณ์นี้ในการวัดระยะทางระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์โดยอาศัยการเกิดแพรัลแลกซ์


เจเรไมอาห์ ฮอร์รอกส์ นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษเป็นคนแรกที่ได้คำนวณและสังเกตเห็นการเคลื่อนตัวในวงโคจรของดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ดังกล่าวเมื่อเวลาตั้งแต่ 15.15 น. จนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2182
6 มิถุนายน 2012 เกิดปรากฎการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ถือได้ว่าดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์ และโลก มาเรียงตัวกัน สามารถเห็นพระอาทิตย์เป็นไฝได้ทั่วประเทศ แนะนำให้ดูตอนพระอาทิตย์ขึ้น เผื่อจะมองเห็นได้โดยไม่ต้องใช้แผ่นกรองแสง แต่วันนั้นพระอาทิตย์ขึ้นเร็วหน่อยนะ ที่กรุงเทพฯ พระอาทิตย์ขึ้นตั้งแต่เวลา 5:53 น. แต่หากเมฆบัง ยังมีโอกาสเห็นต่อไปอีกจนกว่าดาวศุกร์จะออกจากดวงอาทิตย์ราวๆ 11:30 นะครับ ระยะห่างดาวศุกร์ 43,189,293 กิโลเมตร ระยะห่างดวงอาทิตย์ 151,801,021 กิโลเมตร
ดาวศุกร์วันที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์นั้น ก็คือวันที่ดาวศุกร์ใกล้โลกที่สุดนั่นเอง ขนาดปรากฏของดาวศุกร์ขณะนั้นคือ 57.8 ฟิลิปดา แบบว่า มีขนาดใหญ่กว่าวันที่สว่างที่สุดด้วยซ้ำ ผิดกันก็เพียง วันที่สว่างที่สุดเป็นจุดขาวในพื้นสีดำ แต่ตอนผ่านหน้าดวงอาทิตย์ จะเป็นจุดดำในพื้นสีขาวอมส้ม


  ดูยังไงไม่ให้ตาเสีย
ห้ามมองดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า เพราะเป็นอันตรายต่อดวงตามากถึงตาบอดได้
      





ดังนั้น ต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีแผ่นกรองแสงที่มีคุณภาพ ต้องใช้แผ่นกรองแสงติดตั้งกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องดูดาว และเลือกใช้แผ่นกรองแสงอาทิตย์ที่มีคุณภาพสูงเป็นแผ่นกระจกฉาบโลหะ หรือแผ่นไมลาร์ หรือแว่นสำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ



ห้ามใช้แผ่นกรองแสงขนาดเล็กชนิดติดตั้งกับเลนส์ตาที่แถมมากับกล้องโทรทรรศน์ราคาถูกโดยเด็ดขาด เพราะควาามร้อนจากการรวมแสงภายในลำกล้อง อาจทำให้แผ่นกรองแสงแตกชำรุดและเป็นอันตราย หรือถ้าไม่มีแผ่นกรองแสงก็สามารถดูได้จากวิธีใช้ฉากรับภาพแทน....

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

AEC คืออะไร

                 รู้จัก    AEC 
                     AEC      คือ      Asean Economics Community คือการรวมตัวของชาติใน Asean 10 ประเทศ โดยมี ไทย, พม่า, ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, บรูไน เพื่อที่จะให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน จะมีรูปแบบคล้ายๆ กลุ่ม Euro Zone นั่นเอง จะทำให้มีผลประโยชน์, อำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้าได้มากขึ้น และการนำเข้า ส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรี ยกเว้นสินค้าบางชนิดที่แต่ละประเทศอาจจะขอไว้ไม่ลดภาษีนำเข้า (เรียกว่าสินค้าอ่อนไหว)
Asean จะรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและมีผลจริงๆจังๆ ณ วันที่ 1 มกราคม 2558 ณ วันนั้นจะทำให้ภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปอย่างมาก (อย่างที่คุณคิดไม่ถึงทีเดียว)
                  blue print (แบบพิมพ์เขียว) หรือแนวทางที่จะให้ AEC เป็นไปคือ
1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน
2.การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
3. การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน
4. การเป็นภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก
                  จุดเด่นของแต่ละประเทศใน   AEC
พม่า : สาขาเกษตรและประมง
มาเลเซีย : สาขาผลิตภัณฑ์ยาง และสาขาสิ่งทอ
อินโดนีเซีย : สาขาภาพยนต์และสาขาผลิตภัณฑ์ไม้
ฟิลิปปินส์ : สาขาอิเล็กทรอนิกส์
สิงคโปร์ : สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาสุขภาพ
ไทย : สาขาการท่องเที่ยว และสาขาการบิน (ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง ASEAN)

                  การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดๆใน AEC
- การลงทุนจะเสรีมากๆ คือ ใครจะลงทุนที่ไหนก็ได้ ประเทศที่การศึกษาระบบดีๆ ก็จะมาเปิดโรงเรียนในบ้านเรา อาจทำให้โรงเรียนแพงๆแต่คุณภาพไม่ดีลำบาก
- ไทยจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และการบินอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะว่าอยู่กลาง Asean และไทยอาจจะเด่นในเรื่อง การจัดการประชุมต่างๆ, การแสดงนิทรรศการ, ศูนย์กระจายสินค้า และยังเด่นเรื่องการคมนาคมอีกด้วยเนื่องจากอยู่ตรงกลางอาเซียน และการบริการด้านการแพทย์และสุขภาพจะเติบโตอย่างมากเช่นกันเพราะ จะผสมผสานส่งเสริมกันกับอุตสาหกรรรมการท่องเที่ยว (ค่าบริการทางการแพทย์ต่างชาติจะมีราคาสูงมาก)
- การค้าขายจะขยายตัวอย่างน้อย 25% ในส่วนของอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น รถยนต์, การท่องเที่ยว, การคมนาคม, แต่อุตสาหกรรมที่น่าห่วงของไทยคือ ที่ใช้แรงงานเป็นหลักเช่น ภาคการเกษตร, ก่อสร้าง, อุตสาหกรรรมสิ่งทอจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากฐานการผลิตอาจย้ายไปประเทศที่ผลิตสินค้าทดแทนได้เช่นอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยผู้ลงทุนอาจย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า เนื่องด้วยบางธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะมากนักจึงค่าแรงถูก
- เรื่องภาษาอังกฤษจะเป็นอะไรที่สำคัญอย่างมากกกกกกกก เนื่องจากจะมีคนอาเซียน เข้ามาอยู่ในไทยมากมายไปหมด และเค้าจะพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แต่จะใช้ภาษาอังกฤษ (AEC มีมาตรฐานแจ้งว่าจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางใน AEC) บางทีเรานึกว่าคนไทยไปทักพูดคุยด้วย แต่เค้าพูดภาษาอังกฤษกลับมา เราอาจเสียความมั่นใจได้ ส่วนสิ่งแวดล้อมนั้น ป้ายต่างๆ หนังสือพิมพ์, สื่อต่างๆ จะมีภาษาอังกฤษมากขึ้น (ให้ดูป้ายที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นตัวอย่าง) และจะมีโรงเรียนสอนภาษามากมาย หลากหลายหลักสูตร
- การค้าขายบริเวณชายแดนจะคึกคักอย่างมากมาย เนื่องจาก ด่านศุลกากรชายแดนอาจมีบทบาทน้อยลงมาก แต่จะมีปัญหาเรื่องยาเสพติด และปัญหาสังคมตามมาด้วย
- เมืองไทยจะไม่ขาดแรงงานที่ไร้สกิลอีกต่อไปเพราะแรงงานจะเคลื่อย้ายเสรี จะมี ชาวพม่า, ลาว, กัมพูชา เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น แต่คนเหล่านี้ก็จะมาแย่งงานคนไทยบางส่วนด้วยเช่นกัน และยังมีปัญหาสังคม, อาชญากรรม จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย อันนี้รัฐบาลควรระวัง
- คนไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ บางส่วนจะสมองไหลไปทำงานเมืองนอก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซอร์ฟแวร์ (ที่จะให้สิงคโปร์ดูแล) เพราะชาวไทยเก่ง แต่ปัจจุบันได้ค่าแรงถูกมาก อันนี้สมองจะไหลไปสิงคโปร์เยอะมาก แต่พวกชาวต่างชาติก็จะมาทำงานในไทยมากขึ้นเช่นกัน อาจมีชาว พม่า, กัมพูชา เก่งๆ มาทำงานกับเราก็ได้ โดยจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง บริษัท software ในไทยอาจต้องปรับค่าจ้างให้สู้กับพวกเมืองนอกเพราะไม่งั้นสมองไหลหมด
- อุตสาหกรรมโรงแรม, การท่องเที่ยว, ร้านอาหาร, รถเช่า บริเวณชายแดนจะคึกคักมากขึ้น เนื่องจากจะมีการสัญจรมากขึ้น และเมืองตามชายแดนจะพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นจุดขนส่ง
- สาธารณูปโภคในไทย หากเตรียมพร้อมไม่ดีอาจขาดแคลนได้เช่น ชาวพม่า มาคลอดลูกในไทย ก็ต้องใช้โรงพยาบาลในไทยเป็นต้น
- กรุงเทพฯ จะแออัดอย่างหนัก เนื่องจากมีตำแหน่งเป็นตรงกลางของอาเซียนและเป็นเมืองหลวงของไทย โดยเมืองหลวงอาจมีสำนักงานของต่างชาติมาตั้งมากขึ้น ก็เป็นได้ รถจะติดอย่างมาก สนามบินสุวรรณภูมิจะแออัดมากขึ้น (ดีที่อาจขยายสร้างเพิ่มได้)
- ไทยจะเป็นศูนย์กลางอาหารโลกในการผลิตอาหาร เพราะ knowhow ในไทยมีเยอะประสบการณ์สูง และบริษัทอาหารในไทยก็แข็งแกร่ง ประกอบทำเลที่ตั้งเหมาะสมอย่างมาก แม้จะให้พม่าเน้นการเกษตร แต่ทางประเทศไทยเองคงไปลงทุนในพม่าเรื่องการเกษตรแล้วส่งออก ซึ่งก็ถือเป็นธุรกิจของคนไทยที่ชำนาญ อยู่แล้ว
- ปัญหาสังคมจะรุนแรงถ้าไม่ได้รับการวางแผนที่ดี เนื่องจาก จะมีขยะจำนวนมากมากขึ้น, ปัญหาการแบ่งชนชั้น ถ้าคนไทยทำงานกับคนต่างชาติที่ด้อยกว่า อาจมีการแบ่งชนชั้นกันได้, จะมีชุมชนสลัมเกิดขึ้น และอาจมี พม่าทาวน์, ลาวทาวน์, กัมพูชาทาวน์, ปัญหาอาจญากรรมจะรุนแรง สถติการก่ออาชญากรรมจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากชนนั้นที่มีปัญหา, คนจะทำผิดกฎหมายมากขึ้นเนื่องจากไม่รู้กฎหมาย
การขนส่งที่เปลี่ยนแปลง East-West Economic Corridor (EWEC)
East-West-Economic-Corridor
East West Economic Corridor
จะมีการขนส่งจากท่าเทียบเรือทางทะเลฝั่งขวาไปยังฝั่งซ้าย เวียดนาม-ไทย-พม่า มีระยะทางติดต่อกันโดยประมาณ 1,300 กม.อยู่ในเขตประเทศไทยถึง 950 กม. ลาว 250 กม. เวียนดนาม 84 กม.เส้นทางเริ่มที่ เมืองท่าดานัง ประเทศเวียดนาม ผ่านเมืองเว้และเมืองลาวบาว ผ่านเข้าแขวงสะหวันนะเขตในประเทศ ลาว และมาข้ามสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ข้ามแม่น้ำโขงสู่ไทยที่ จังหวัดมุกดาหาร ผ่านจังหวัด กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนั้นเข้าไปยังประเทศพม่าไปเรื่อยๆ ถึงอ่าวเมาะตะมะ ที่เมืองเมาะลำไย หรือมะละแหม่ง เป็นการเชื่อมจากทะเลจีนใต้ไปสู่อินเดีย
มันจะมีผลที่ดีคือ การขนส่ง logistic ใน AEC จะพัฒนาอีกมาก และจากาการที่ไทยอยู่ตรงกลางทำให้เราขายของได้มากขึ้นเพราะเราจะส่งของไปท่าเรือทางซ้ายก็ได้ ทางขวาก็ได้ ที่ดินในไทยบริเวณดังกล่าวก็เตรียมตัวราคาขึ้นได้เลย
และที่พม่ายังมี mega project ทวาย (ศูนย์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่,ท่าเรือขนาดใหญ่) ที่เส้นทางสอดคล้องกับ East West Economic Corridor โดยทวายจะกลายเป็นทางออกสู่ทะเลจุดใหม่ที่สำคัญมากต่ออาเซียน เพราะในอดีตทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียจำเป็นต้องใช้ท่าเรือของสิงคโปร์เท่านั้น ขณะเดียวกันโปรเจกต์ทวายนี้ยังเป็นต้นทางรับสินค้าจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียหรือสินค้าที่มาจากฝั่งยุโรปและตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มพลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซ ซึ่งจะถูกนำเข้าและแปรรูปในโรงงานปิโตรเคมีภายในพื้นที่โปรเจกต์ทวาย เพื่อส่งผ่านไทยเข้าไปยังประเทศกลุ่มอินโดจีนเช่น ลาว กัมพูชา และไปสิ้นสุดปลายทางยังท่าเรือดานังประเทศเวียดนาม และจะถูกส่งออกไปยังเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นและจีน
ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่เราควรจะเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ที่สำคัญตอนนี้คือ ภาษาอังกฤษ อย่างน้อยๆเราก็จะได้สื่อสารทางธุรกิจได้ เพราะหากสื่อสารไม่ได้ เรื่องอื่นก็คงไม่ต้องทำอะไรต่อ และถ้าจะหาลูกค้าแค่ในไทยก็อาจไม่เพียงพอแล้วเพราะ ธุรกิจต่างชาติก็จะมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของเราแน่นอน


วันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2555

ประวัติวันสงกรานต์

                 



                   สงกรานต์ เป็นประเพณีเดือน 5 ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
                  และเป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี
                  พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival หรือ สงครามน้ำ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ
การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

 

วันในเทศกาลสงกรานต์

                         ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาล เป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์"[ต้องการอ้างอิง] วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก"


ตำนานนางสงกรานต์
                           ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม[3] กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีจนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่กว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตร อยู่มาวันหนึ่งพอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่งภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ เขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน ทันใดนั้นธรรมบาลกุมารจึงขอผัดผ่อนกับท้าวกบิลพรหมเป็นเวลา 7 วัน
ทางธรรมบาลกุมารก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ ล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล เขาคิดว่า ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหม บังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด สามีตอบนางนกว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่า คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้า ศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยง ศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น ศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ธรรมบาลกุมารก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้
ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหมก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ดอันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนำพานมารองรับ แล้วก็ตัดเศียรให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ
จากนั้นมาทุก ๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ ดังนี้
  1. ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ
  2. ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)
  3. ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต (เลือด) พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังพระยาวราหะ (หมู)
  4. ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มัณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
  5. ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงของ้าว พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังพระยาคชสาร (ช้าง)
  6. ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)
  7. ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)

สำหรับความเชื่อทางล้านนานั้นจะมีว่า
  1. วันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
  2. วันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
  3. วันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
  4. วันพุธ ชื่อ นางมันทะ
  5. วันพฤหัส ชื่อ นางกัญญาเทพ
  6. วันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
  7. วันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี

 กิจกรรมในวันสงกรานต์

  • การทำบุญตักบาตร ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย
  • การรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา
  • การสรงน้ำพระจะรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัด สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วย
  • บังสุกุลอัฐิ กระดูกญาติผู้ใหญ่ที่ตายแล้ว มักก่อเป็นเจดีย์ แล้วนิมนต์พระไปบังสุกุล
  • การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้
  • การดำหัว ก็คือการรดน้ำนั่นเอง แต่เป็นคำเมืองทางภาคเหนือ การดำหัวเรียกกันเฉพาะการรดน้ำผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีผ้าขนหนู มะพร้าว กล้วย และ ส้มป่อย
  • การปล่อยนกปล่อยปลา ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่
  • การนำทรายเข้าวัด ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด

สงกรานต์ในแต่ละท้องที่

                     แม้สงกรานต์จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศแถบคาบสมุทรอินโดจีน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา และมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีนแต่สงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดในสายตาชาวโลกคือสงกรานต์ในประเทศไทย จึงทำให้เทศกาลสงกรานต์ของไทยติดอันดับเทศกาลที่มีสีสันที่สุด 1 ใน 5 ของเอเชีย[4]
ส่วนในต่างประเทศ ชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา โดยเฉพาะเมืองจี่งหง หรือเมืองเชียงรุ่ง จะจัดงานสาดน้ำสงกรานต์ ในวันที่ 13-15 เมษายน [5]โดยเรียกว่างานเทศกาลพัวสุ่ยเจี๋ย[6]

รูปแบบทั่วไป

  • สงกรานต์ภาคเหนือ (สงกรานต์ล้านนา) หรือ "ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง" อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่"วันสังขารล่อง"(13 เม.ย.) ที่มีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล "วันเนา"หรือ"วันเน่า"(14 เม.ย.) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี "วันพญาวัน"หรือ"วันเถลิงศก" (15 เม.ย.) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย"วันปากปี"(16 เม.ย.) ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆเพื่อขอขมาคารวะ และ"วันปากเดือน"(17 เม.ย.) เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่างๆออกไปจากตัวเพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา
  • สงกรานต์ภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ"ตรุษสงกรานต์" บางพื้นที่จะเรียกว่า “เนา”และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน
  • สงกรานต์ภาคใต้ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์ (13 เม.ย.) เป็น"วันส่งเจ้าเมืองเก่า" โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน"วันว่าง"(14 เม.ย.) ชาวนครจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป และวันสุดท้ายเป็น"วันรับเจ้าเมืองใหม่"(15 เม.ย.) จะทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์
  • สงกรานต์ภาคกลาง เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวัน"มหาสงกรานต์" วันที่ 14 เป็น"วันกลาง"หรือ"วันเนา" วันที่ 15 เป็นวัน"วันเถลิงศก" ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย

 รูปแบบที่แตกต่าง

  • สงกรานต์ผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุสองแผ่นดิน หรือสงกรานต์นครพนม รื่นรมย์ บุญปีใหม่ไทย-ลาว ณ อ.เมือง และ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ในงานจะมีการฮดสรง หรือสรงน้ำพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 7 แห่ง ที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
  • สงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ หรือประเพณีสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำเกาะสีชัง และเกาะขามใหญ่ จ.ชลบุรี ภายในงานมีกิจกรรมเช่น พิธีทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ พิธีกองข้าวบวงสรวง รดน้ำดำหัว การก่อพระเจดีย์ทราย การละเล่นพื้นบ้าน แข่งขันเรือกระทะ เรือชักกะเย่อ มวยตับจาก ปาลูกดอก แข่งขันตะกร้อลอดบ่วง การแสดงดนตรี และประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ
  • สงกรานต์นางดาน หรือเทศกาลมหาสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช จัดขึ้น ณ สวนศรีธรรมาโศกราช สนามหน้าเมือง หอพระอิศวร สำหรับกิจกรรมภายในเทศกาลสงกรานต์เมืองนครนี้ จะมีมหกรรมขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง กิจกรรมนั่งรถชมเมือง เล่าเรื่องลิกอร์ นั่งสามล้มโบราณชมเมืองเก่า พิธีพุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 6 แหล่ง จตุคามรุ่นสรงน้ำ 50 เป็นต้น
  • สงกรานต์ปาร์ตี้โฟม มีพื้นที่ปาร์ตี้โฟมที่ปิดล้อมด้วยพลาสติกใส
  • สงกรานต์ล่องเรือสาดน้ำ เช่นที่ตลาดน้ำตลิ่งชัน นักท่องเที่ยวสามารถพบความสนุกสนานจากการนั่งเรือหางยาวสาดน้ำสงกรานต์กับชุมชนริมสองฟากฝั่งคลอง และยังได้ชมสวนกล้วยไม้ ทำบุญให้อาหารปลา หรือแวะซื้อขนมหวาน ผลไม้จากแพ และมีไกด์คอยบรรยายและอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง
  • หาดใหญ่ มิดไนท์ สงกรานต์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการจัดกิจกรรมสงกรานต์และการสาดน้ำในยามค่ำคืน ณ ถนนเสน่หานุสรณ์ และถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 ตั้งแต่เวลา 18.00 – 23.00 น. โดยเทศกาลนี้ได้เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547

พื้นที่เด่นในการจัดงานสงกรานต์ในประเทศไทย

 ภาคเหนือ

 ภาคอีสาน

 ภาคกลาง

 ภาคใต้


คำทำนายเกี่ยวกับสงกรานต์

ตามตำราพรหมชาติ ฉบับหลวง[7] ได้ให้คำทำนายเกี่ยวกับวันสงกรานต์ไว้ดังนี้

วันมหาสงกรานต์

  • ถ้าปีใดวันมหาสงกรานต์เป็นวันอาทิตย์ ปีนั้นไร่นาเรือกสวน เผือกมัน มิสู้แพงแล
  • ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้เสนาบดี ท้าวพระยาและนางพระยาทั้งหลาย
  • ถ้าวันอังคารและวันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิงและโจรผู้ร้าย และจะเจ็บไข้นักแล
  • ถ้าวันพุธ เป็นวันมหาสงกรานต์ ว่าท้าวพระยาจะได้เครื่องบรรณาการมาแต่ต่างเมือง แต่จะแพ้ลูกอ่อนนักแล
  • ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ จะแพ้ข้าไท พระสงฆ์ราชาคณะจะได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจกันแล
  • ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าวน้ำ ลูกหมากรากไม้ทั้งหลายจะอุดม แต่จะแพ้เด็ก ฝนและพายุชุม จะเจ็บตากันมากนักแล ฯ

วันเนา

  • ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย จะได้ยินเสียงคนต่างภาษา ท้าวพระยาจะร้อนใจนักแล
  • ถ้าวันจันทร์เป็นวันเนา เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจ มักจะเกิดความไข้ต่าง ๆ
  • ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา หมากพลู ข้าวปลาจะแพง จะแพ้อำมาตย์มนตรีทั้งปวง
  • ถ้าวันพุธเป็นวันเนา ข้าวจะแพง คนทั้งหลายจะได้รับความทุกข์ร้อน แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่
  • ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเนา ลูกไม้จะแพง ตระกูลทั้งหลายจะร้อนใจนักแล
  • ถ้าวันศุกร์เป็นวันเนา ข้าวจะแพง แร้งกาจะตายห่า สัตว์ในป่าจะเกิดอันตราย
  • ถ้าวันเสาร์เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง จะเกิดเพลิงกลางใจเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ข้าวจะตายฝอย น้ำจะน้อยกว่าทุกปี สมณชีพราหมณ์จะร้อนใจนัก ผักปลาจะแพงแล ฯ

วันเถลิงศก

  • ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะรุ่งเรืองด้วยพระเดชานุภาพ จะมีชัยชนะแก่ศัตรูทั่วทิศาทั้งปวงแล
  • ถ้าวันจันทร์เป็นวันเถลิงศก พระราชเทวี และหมู่นางสนม ราชบริพาร จะประกอบไปด้วยสุขและสมบัติทั้งปวง
  • ถ้าวันอังคารเป็นวันเถลิงศก อำมาตย์มนตรีทั้งปวงจะอยู่เย็นเป็นสุข แม้จะต่อยุทธ์ด้วยปัจจามิตร ณ ที่ใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล
  • ถ้าวันพุธเป็นวันเถลิงศก ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ จะมีสุขสำราญเป็นอันมาก
  • ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเถลิงศก สมณะพราหมณาจารย์จะปฏิบัติชอบด้วยธรรมวินัยอันประเสริฐแล
  • ถ้าวันศุกร์เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าพานิชทั้งหลาย อันไปค้าขายในประเทศต่าง ๆ จะประกอบไปด้วยพัสดุเงินทอง และมีความสุขเป็นอันมากแล
  • ถ้าวันเสาร์เป็นวันเถลิงศก หมู่ทแกล้วทหารทั้งปวง จะประกอบไปด้วยความสุข และวิชาการต่าง ๆ แม้จะกระทำยุทธ์ด้วยข้าศึก ณ ทิศใด ๆ ก็จะมีชัยชนะทุกเมื่อแล ฯ

คำขวัญวันสงกรานต์

 

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

เมืองปริศนา แอตแลนติสที่สาบสูญ

ปริศนาแอตแลนติส
เรื่องราวของแอตแลนติส มีต้นตอมาจากข้อเขียนของ เพลโต Plato นักปราชญ์ชาวกรีก ไทมาอุส Timaeus ผู้ที่ไม่ปรากฏนามในประวัติศาสตร์และคริติอาส Critias ทวดของเพลโต ซึ่งอ้างอิงถึงการล่มสลายของอารยธรรมแอตแลนติส เมื่อ 11,000 ปีที่ผ่านมา มีเกาะที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกเชื้อสายชั้นสูง ที่นั่นเป็นดินแดนมั่งคั่ง เป็นศูนย์กลางการค้าขาย ดินแดนแห่งนี้ก็คือแอตแลนติสนั่นเอง
ไคลโตได้ให้กำเนิดลูกชายฝาแฝดกับเทพโพไซดอน โดยลูกคนโตชื่อ แอตลาส ได้เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของแอตแลนติส เขาสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่บิดาที่ยอดสูงสุดของหุบเขากลาง เป็นอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ทำด้วยทองคำ รูปเทพโพไซดอน กำลังบังคับรถม้าซึ่งลากโดยม้ามีปีก ดินแดนแอตแลนติสคงอยู่ด้วยความยุติธรรมมานาน แต่ต่อมาก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ความละโมบ   รุนแรงและอำนาจเริ่มทำลายมัน

         




              เมื่อเทพเซอุส เห็นความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในแอตแลนติสก็ทรงปรึกษากับเทพองค์อื่นๆ เพื่อตัดสินใจถึงการลงโทษคนพวกนั้นอย่างสาสม ในไม่ช้าประชาชน ความทรงจำ และดินแดนที่เรียกว่าแอตแลนติสก็ได้ถูกกลืนหายไปกับท้องทะเล
บางคนเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องแต่งขึ้นจากจินตนาการของ  เพลโต นักปราชญ์ชาวกรีก





            แต่บางคนก็เชื่อว่าเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์หายะที่ทำลายดินแดนอารยธรรมไมโนอาน Minoan ในขณะที่บางคนก็เชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นคำอธิบายถึงดินแดนที่มีอยู่จริง แต่หายไปเป็นเวลายาวนานแล้ว แอตแลนตีสเป็นชนชาติที่อยู่บนเกาะ ซึ่งได้พัฒนาอารยธรรมจนเจริญก้าวหน้าไปมาก อยู่ในช่วงระหว่าง 11,500 ปีที่แล้ว ส่วนทฤษฎีที่พยายามอธิบายถึงเหตุผลแห่งการหายไปของอาณาจักรแอตแลนตีสนั้นมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเกิดกลียุค ด้วยโรคภัยจากธรรมชาติคุกคาม หรือจากตำนานเทพเจ้ากรีกที่ระบุว่าชาวเมืองแอตแลนตีสมีความละโมบและกระหายอำนาจเข้าครอบนำเทพเจ้าจึงลงโทษด้วยการทำลายเมืองไปในที่สุด นอกจากนี้ยังมีผู้สงสัยว่า แอตแลนติสที่แท้จริงอาจจะเป็นแค่เพียงภาพฝันของเพลโตก็เป็นได้


วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประวัติของวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก

        วันนักบุญวาเลนไทน์ (Saint Valentine's Day) หรือที่เป็นที่รู้จักว่า วันวาเลนไทน์ (Valentine's Day) ตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันประเพณีที่คู่รักบอกให้กันและกันทราบเกี่ยวกับความรักของพวกเขา โดยการส่งการ์ดวาเลนไทน์ ซึ่งโดยมากจะไม่ระบุชื่อ วันนี้เริ่มเกี่ยวข้องกับความรักแบบชู้สาวในช่วงยุค High Middle Ages เรื่องของ วันวาเลนไทน์ นี้ มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 ณ กรุงโรม หรืออาณาจักรโรมัน ในยุคของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง (Claudius II) โดยที่จักรพรรดิพระองค์นี้ มีนิสัยชอบกดขี่ข่มเหงผู้อื่น เขาได้สั่งให้ชาวโรมันทุกคน สักการะนับถือพระเจ้า 12 องค์ โดยผู้ที่ขัดขืนคำสั่งจะถูกทำโทษ รวมทั้งห้ามยุ่งเกี่ยวกับพวกคริสเตียนด้วย แต่นักบุณวาเลนตินุส (Valentinus) - valentine มีความเลื่อมใส ศรัทธาต่อพระคริสต์มาก เขาได้กล่าวไว้ว่า แม้กระทั่งความตายก็ไม่สามารถ เปลี่ยนความคิดของเขาได้ เขาจึงได้ถูกขังคุก
ช่วงอาทิตย์สุดท้ายในชีวิตของเขานั้นได้ มีสิ่งแปลกประหลาดเกิดขึ้น ขณะที่เขาถูกคุมขังอยู่นั้น ผู้คุมขังได้ขอให้วาเลนตินุส สอนลูกสาวเขาซึ่งตาบอดด้วย จูเลียเป็นคนสวยแต่น่าเสียดายที่เธอตาบอดตั้งแต่แรกเกิด วาเลนตินุสได้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ต่าง ๆ สอนเลข และเล่าเรื่องพระเจ้าให้เธอฟัง จูเลีย สามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ได้ โดยคำบอกเล่าของ วาเลนตินุส เธอเชื่อใจเขาและเธอมีความสุขมากเมื่ออยู่กับเขา
วันหนึ่งจูเลียถามวาเลนตินุสว่า ถ้าเราอธิษฐาน พระผู้เป็นเจ้าจะได้ยินเราไหม เขาตอบ พระองค์เจ้า จะได้ยินเราแน่นอน ท่านได้ยินเราทุกคนจูเลียกล่าว ท่านทราบหรือไม่ว่า ข้าอธิษฐานขออะไรทุก ๆ เช้า ทุก ๆ เย็น...ข้าหวังว่า ข้าจะได้มองเห็นโลก เห็น ทุก ๆ อย่างที่ท่านเล่าให้ข้าฟังวาเลนตินุสจึงบอก พระเจ้ามอบแต่สิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ทุกคน เพียงแค่เรามีความเชื่อมั่นในพระองค์ท่าน เท่านั้นเอง
จูเลีย ผู้ซึ่งมีความเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าจึงได้คุกเข่า กุมมืออธิษฐานพร้อมกับวาเลนตินุส และในขณะนั้นเอง ก็ได้มีแสงสว่างลอดเข้ามาในคุก และสิ่งมหัศจรรย์ก็ได้เกิดขึ้น จูเลียค่อย ๆ ลืมตา แล้วเธอก็มองเห็น เขาและเธอจึงกล่าวขอบคุณต่อพระเจ้า และเรื่องมหัศจรรย์เรื่องนี้ ได้แพร่หลายไปทั่วราชอาณาจักร
ในคืนก่อนที่วาเลนตินุสจะสิ้นชีวิต โดยการถูกตัดศีรษะเขาได้ส่งจดหมายฉบับสุดท้ายถึงจูเลีย โดยลงท้ายว่า - From Your Valentine - เขาสิ้นชีพในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270 หลังจากนั้น ศพของเขาได้ถูกเก็บไว้ที่โบสถ์พราซีเดส (Praxedes) ณ กรุงโรม จูเลียได้ปลูกต้นอามันต์ หรืออัลมอลต์สีชมพู ไว้ใกล้หลุมศพของวาเลนตินุส แต่ผู้เป็นที่รักของเธอ โดยในทุกวันนี้ ต้นอามันต์สีชมพูได้เป็นตัวแทนแห่งรักนิรันดร์และมิตรภาพอันสวยงาม
การส่งดอกไม้วันวาเลนไทน์
มนุษย์ได้ใช้ดอกไม้เป็นสื่อในการแสดงความรักต่อกันมานานแล้ว เราคิดว่าดอกไม้เป็นสิ่งความรักของหนุ่มสาวเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วดอกไม้ยังใช้สื่อความรักได้หลายรูปแบบ ทั้งยังไม่จำกัดอายุและเพศอีกด้วย
  • กุหลาบแดง (Red Rose) : จะใช้ในความหมายแทน ประโยคที่ว่า "ฉันรักเธอ"
  • กุหลาบขาว (White Rose) : กุหลาบขาวแทนความหมายแห่งความรักอันบริสุทธิ์
  • กุหลาบชมพู (Pink Rose) : มักถูกใช้แทนความรักแบบโรแมนติก และความเสน่หาต่อกัน
  • กุหลาบเหลือง (Yellow Rose) : สีเหลืองเป็นสีแห่งความสดใส แทนความรักแบบเพื่อน
โดยในการมอบดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์นั้นเชื่อกันว่า จำนวนดอกกุหลาบที่มอบแก่กันนั้น มีความหมายต่อความรักกันอีกด้วย โดยได้แก่
  • 1 ดอก หมายถึง ความรักแบบ รับแรกพบ
  • 2 ดอก หมายถึงการแสดงความยินดี
  • 3 ดอก แทนคำบอกรักว่า ฉันรักเธอ
  • 7 ดอก แทนคำพูดที่ว่า เธอทำให้ฉันหลงเสน่ห์
  • 9 ดอก แทนความหมายที่ว่า ทั้งสองคนจะรักกันตลอดไป
  • 10 ดอก แทนความหมายว่า เธอเป็นคนที่ดีเลิศที่สุด
  • 11 ดอก แทนความหมายว่า การเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของฉัน
  • 12 ดอก แทนความหมายว่า การขอให้เธอเป็นคู่ฉัน
  • 13 ดอก แทนความหมายว่า ความเป็นเพื่อนแท้เสมอ (ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือ การบอกปฏิเสธด้วยความรักอย่างเพื่อน)
  • 15 ดอก แทนความหมายว่า แทนความรู้สึกเสียใจจริง
  • 20 ดอก แทนความหมายว่า ความจริงใจต่อกัน
  • 21 ดอก แทนความหมายว่า ถึงการมอบชีวิตอุทิศให้
  • 36 ดอก แทนความหมายว่า ความทรงจำที่แสนหวานที่ยังมีต่อกัน
  • 40 ดอก แทนความหมายว่า ยืนยันว่าความรักเป็นรักแท้
  • 99 ดอก แทนคำพูดที่ว่า ฉันรักเธอจนวันตาย
  • 100 ดอก แทนคำพูดที่ว่า ฉันอุทิศชีวิตนี้เพื่อเธอ
  • 101 ดอก แทนคำพูดที่ว่า ฉันมีเธอเพียงคนเดียวเท่านั้น
  • 108 ดอก แทนความหมายถึงการขอแต่งงานแบบอ้อมๆ ที่ผู้ให้ไม่กล้าพูด
  • 999 ดอก แทนคำพูดที่ว่า ฉันจะรักเธอจนวินาทีสุดท้าย
  • 1,000 ดอก แทนคำพูดที่ว่า ฉันจะรักเธอจนวันตาย
  • 9,999 ดอก แทนคำพูดที่ว่า ฉันจะรักเธอชั่วนิรันดร